25 เมษายน ANZAC DAY จุดกำเนิดความเป็นออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
- Alex in the Wonderland
- Apr 22, 2020
- 1 min read

25 เมษายน ANZAC Day “Lest we forget – we will remember them”
วันแอนแซก (Anzac Day) เป็นวันที่ระลึกประจำชาติในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งระลึกถึงชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ทุกคนที่รับใช้และเสียชีวิตในทุกสงคราม ความขัดแย้งและปฏิบัติการรักษาสันติภาพ"

เดิมกำหนดวันที่ 25 เมษายนของทุกปีเป็นเกียรติแก่สมาชิกกองทัพน้อยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งรบที่กัลลิโปลิ ในจักรวรรดิออตโตมัน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หากวันนี้ไม่มีการระบาดของโควิด 19 วันนี้คนออสเตรเลียก็จะต้องตื่นขึ้นมาด้วยเสียงพาเหรดอันอึกทึกของขบวนพาเหรดที่ฉลองความสำคัญของวันนี้อย่างแน่นอน

ANZAC เป็นตัวย่อจากคำว่า Australian New Zealand Army Corps ซึ่งชื่อนี้ก็เป็นชื่อของกองทัพร่วมของทั้งสองประเทศที่เข้าช่วย British Empire ในการรบ สำหรับการตั้งชื่อดังกล่าวก็ไม่ได้มีอะไรที่พิเศษแต่อย่างใด เพราะว่าชื่อสนธิสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และประเทศที่ 3 มักจะมีตัว ANZ นำหน้าอยู่แล้ว เช่น ANZUS (สนธิสัญญาความมั่นคงที่ร่วมกับอเมริกา) แม้แต่บริษัทเอกชนเช่น ธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็ใช้ชื่อย่อว่า ANZ Bank แต่จากการที่รัฐบาลของทั้งสองชาติต่างให้ความสำคัญกับวันที่ 25 เมษายน ของทุกๆ ปี ทำให้ Anzac กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

ความสำคัญของวันนี้แท้จริงแล้วมีความหมายมากกว่า การที่จะเป็นวันที่ระลึกถึงทหารที่เสียชีวิตในสนามรบ เพราะ ถ้าหากมองย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ออสเตรเลียเองถือว่าเป็นประเทศที่พึ่งเกิดใหม่ พึ่งหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาได้เพียงแค่สิบกว่าปีเท่านั้น สิ่งที่ออสเตรเลียต้องการมีให้เหมือนกับชาติอื่นนั่นคือ จุดกำเนิดของความเป็นชาติ ที่จะทำให้คนในชาติรู้สึก และบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ สัญลักษณ์ และอัตลักษณ์ของออสเตรเลีย

หากเวลาพูดถึงความเป็นชาติในประเทศใดๆ ก็ตาม แอดขอยกตัวอย่างเช่นง่ายๆ ใกล้ตัวเลย ประเทศไทยเราเป็นชาติที่สามารถบ่งบอกความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน เช่น สถาปัตยกรรมของไทย ชุดไทย ภาษาไทย วัฒนธรรมไทย ต่างบ่งบอกที่มาและความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน แต่พอเราถามคำถามเดียวกันกับฝรั่งที่เคยเป็นอาณานิคมอย่างออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์แล้ว ก็เป็นการยากที่จะบ่งบอกถึงที่มา เพราะภาษาที่ใช้ก็มาจากอังกฤษ วัฒนธรรมก็เป็นของคนอื่น และแม้แต่การเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนอื่นมาเป็นของตัวเองก็ดูเหมือนจะเป็นปัญหา เพราะแม้แต่ชาวอะบอริจินเองก็ยังมีการประท้วงอยู่เนืองๆ ในวันชาติออสเตรเลียที่ชาวตะวันตกเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนประเทศของตน และชาวออสซี่เองก็ไม่ค่อยจะชอบใจหากจะมีความเป็นออสซี่ผ่านบูมเมอแรงของอะบอริจิน สุดท้ายหลังจากสงครามที่ กัลลิโพลี ชาวออสซื่ก็ได้พบจุดกำเนิดความเป็นชาติ นั่นคือ Anzac

หากเพื่อนๆ ลองสังเกตดูเวลาที่เดินทางไปในสองประเทศนี้ สิ่งที่อาจจะติดตาก็คงหนีไม่พ้นชื่อถนน Anzac เพราะเป็นชื่อที่มีอยู่แทบจะทุกเมืองสำคัญในทวีปนี้ เช่น แอนแซกพาเหรด ในแคนเบอรา สะพาน Anzac ในซิดนีย์ หรือแอนแซก อเวนิว ในโอ้กแลนด์ หรือไม่ก็อนุสาวรีย์ต่างๆ เพราะว่าอนุสาวรีย์นั้นเป็นการบ่งบอกความเป็นชาตินั้นๆ ดังนั้นชาวออสซีและกีวีก็ต้องเอาอนุสรณ์สงครามที่เวลลิงตันกับแคนเบอรา และอนุสาวรีย์ตามเมืองต่างๆ ในหลายๆ รูปแบบ เช่น เทพธิดา ไม้กางเขน หรือแผ่นศิลา เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นชาติของพวกเขา



ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งแรกนั้นชาวออสซีและกีวีต่างมองตนเองว่า เป็นชาวอังกฤษไม่ใช่ประชาชนในอาณานิคม และประเทศของตนเป็นแคว้นหนึ่งของอังกฤษ ดังนั้นออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จึงได้ส่งทหารกำลังผสมเข้าร่วมสงครามมาแล้วหลายสมรภูมิ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อของ Anzac กลายเป็นความทรงจำของชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นั้นเกิดขึ้นที่สมรภูมิกัลลิโปลิ ในประเทศตุรกี ใน ค.ศ.1915
ในครั้งนั้น

กองบัญชาการกลางของฝ่ายสัมพันธมิตรโดย วินสตัน เชอร์ชิลล์ มีคำสั่งให้กองทัพ Anzac ออกรบร่วมกับกองกำลังเมดิเตอเรเนียน กองกำลังจึงประกอบไปด้วยทหารจากเกาะอังกฤษ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ฝรั่งเศส, บริติชอินเดีย โดยมีคำสั่งให้ยึดช่องแคบดาดาเนลเพื่อปิดกั้นกองทัพเรือออตโตมาน แผนการรบในขั้นแรกคือให้ทหารราบไปยึดป้อมปราการของออตโตมานที่แหลมกัลลิโปลีให้ได้ เพื่อเปิดทางให้กองทัพเรือบุกตะลุยสู่ทะเลดำ และเข้าตีกรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของอาณาจักรออตโตมัน หากยึดได้ก็จะมีโอกาสโจมตีเยอรมนี กองพล Anzac จึงเป็นหน่วยกล้าตายหน่วยแรกที่ออกเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ มาถึงชายหาดบนแหลมกัลลิโปลีและยกพลขึ้นบกได้สำเร็จตอนเวลาตีสี่ครึ่งของวันที่ 25 เมษายน 1915

ในศึกครั้งนั้นกองกำลังเติร์กต้านทานอย่างแข็งแกร่งมีผู้นำทัพเติร์กในตอนนั้นคือมุสตาฟาเคมาลที่ภายหลังรู้จักกันดีในนามอาตาเติร์กทหารแขกได้ยึดชัยภูมิตามเนินเขาและระดมยิงทหารฝรั่งตามแนวชายหาดส่งผลให้กองทัพAnzac ต้องเสียทหารถึง8,500 จาก15,000 นายภายในเวลา8 วันแรก

ในสงครามกัลลิโปลิ ทหาร Anzac ได้สู้รบอย่างทรหดและกล้าหาญในเวลาแปดเดือนกับสิบห้าวัน ทั้งสองฝ่ายได้เสริมกำลังพลเข้าสู้รบจนต่างฝ่ายต่างมีทหารในสมรภูมิเป็นแสนนาย กองทัพสัมพันธมิตรเสียทหารในการรบครั้งนี้กว่า 140,000 นาย มีทหารออสเตรเลียสูญเสียชีวิตไปกว่า 25,000 ราย ทำให้สุดท้ายกลาโหมอังกฤษต้องออกมายอมรับความผิดพลาดของยุทธการและถอนทหารในที่สุด

ชาวออสซีและกีวีได้มองว่าชาติของตนเองเสียทหารในศึกกัลลิโปลีเป็นจำนวนมาก เพราะยุทธการที่ผิดพลาดของอังกฤษ และเริ่มมีความรู้สึกผูกพันกับชาติของตนเองมากขึ้น รัฐบาลออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ต่างพร้อมใจกันยกวันที่ 25 เมษายนของทุกๆ ปี เป็นวัน Anzac ซึ่งเป็นวันหยุดราชการที่มีผลต่อสภาพจิตใจและชาตินิยมของประชาชนจากทั้งสองประเทศมาก เพราะคำว่าวันหยุด (Holiday) นั้น มีรากศัพท์มาจากคำว่า Holy Day (วันศักดิ์สิทธิ์) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วันหยุดเช่นวันอาทิตย์นั้นถือว่าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นวันที่ฝรั่งต้องไปเข้าโบสถ์ วันคริสต์มาสเองฝรั่งก็ต้องเข้าโบสถ์ และเพลงที่เราจะคุ้นหูก็คือ Silent Night Holy Night ซึ่งบ่งบอกไว้ชัดเจนว่าเป็นคืนที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกันกับ Holiday อื่นๆ วัน Anzac นั้นมีการเข้าโบสถ์และมีการร้องเพลงรำลึก Ode of Remembrance ซึ่งมีช่วงสร้อยตอนท้ายว่า We will remember them ในยุคหนึ่งทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เคยมีความคิดว่าจะเปลี่ยนให้ใช้วัน Anzac เป็นวันชาติร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศทีเดียว เพราะชาติทั้ง 2 ได้รับรู้ความเป็นชาติของตนจากศึกกัลลิโปลี แม้ว่าในที่สุดทั้ง 2 ประเทศได้ตัดสินใจใช้วันชาติเดิมต่อไป แต่สำหรับประชาชนในชาติทั้งสองแล้ว วัน Anzac นั้นอาจให้ความรู้สึกในความเป็นชาติมากกว่าวันชาติของทางราชการเสียอีก

พิธีไว้อาลัยทหารกล้าจะจัดตามเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศซึ่งจะมีอนุสรณ์สงครามและอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ รวมไปถึงสถานที่ต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะที่ กัลลิโปลี ณ ประเทศตุรกีจะมีชาวออสเตรเลียไปค้างคืนเพื่อไปร่วมพิธีในตอนเช้ามากมาย ผู้เข้าร่วมพิธีที่กัลลิโปลี นี้กว่า 2500 คนเลยทีเดียว

พิธีการสำคัญคือDawn Service ซึ่งเป็นพิธีทางศาสนาคริสต์ที่เริ่มก่อนพระอาทิตย์ขึ้นราว6 นาฬิกาแสดงถึงกิจวัตรประจำวันของทหารที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจทางทหารทั้งนี้ช่วงเวลาเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและเวลาเย็นยามพระอาทิตย์กำลังตกดินจะเป็นช่วงที่เหมาะแก่การโจมตีหรือเสี่ยงที่จะถูกข้าศึกโจมตีที่สุดดังนั้นทหารจึงต้องพร้อมปฏิบัติหน้าที่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในแต่ละวันเสมอ

จากนั้นจะเป็นการเดินพาเหรดโดยทหารผ่านศึก ทหารปลดประจำการ ทหารประจำการ รวมไปถึงลูกหลานของทหารกล้าที่สละชีวิตในสงครามเพื่อเป็นเกียรติแก่พวกเขาเหล่านั้นและนำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวออสเตรเลียเป็นอย่างยิ่ง

อ้างอิงจาก
https://bit.ly/2KpSOe4
Comments